ประวัติวารสารยูโร

ประวัติวารสารยูโร

?ชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ? ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 โดยมีอาจารย์นายแพทย์สมัย จันทวิมล เป็นประธานชมรมท่านแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางวิชาการ และความเป็นปึกแผ่นของชมรมฯ และได้ดําเนินการตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่อง เมื่อสมาชิกมีความเห็นว่า ควรมีวารสารทางวิชาการของชมรมฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์สัมพันธ์ ตันติวงศ์ ซึ่งเป็นประธานชมรมฯ ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์แพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ โดยวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 มีการออกวารสารทางวิชาการของชมรมศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะเป็นครั้งแรก ในชื่อ ?วารสารยูโร? (ภาพที่่ 1)

จัดพิมพ์ 1,250 เล่ม แม้ว่าจะมีบันทึกไว้ ใน ?บรรณาธิการแถลง? วางจำหน่ายในราคาเล่มละ 15 บาท ซึ่งเท่ากับราคาทุน แต่ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร เล่าว่าได้ทําการแจกจ่ายให้สมาชิกฯ โดยไม่คิดมูลค่า ในความ ตั้งใจเริ่มแรกของบรรณาธิการ จะมีวารสารปีละ 2 ฉบับ แต่เนื่องจากปัญหาในหลายด้าน ทั้งการหาบทความ ทุน และการจัดทำรูปเล่ม ในยุคแรกจึงมีวารสารเพียงปีละ 1 ฉบับ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี เป็นบรรณาธิการตั้งแต่ปีแรก คือ พ.ศ. 2519 ถึงปีที่ 12 พ.ศ. 2531

งานบรรณาธิการเป็นงานที่ต้องทุ่มเทพลังใจ และพลังกายเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร กล่าวว่าการทําหนังสือหรือวารสารทางการแพทย์ในยุคนั้น บรรณาธิการต้องทําเองเกือบทุกอย่าง โรงพิมพ์ มีหน้าที่พิมพ์ตามที่ส่งไปให้เท่านั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี ได้กล่าวในบทบรรณาธิการ วารสารยูโร เล่มที่ 2 ว่า ?…สําหรับธุรกิจการพิมพ์อันเป็นอาชีพคนละแบบกับอาชีพทางการแพทย์ และเราก็ประจักษ์แน่ชัดว่า งานพิมพ์วารสารทางวิชาการทางการแพทย์ ต้องการเวลาและความละเอียด พินิจ วิเคราะห์ มากกว่าการพิมพ์หนังสือธรรมดาทั่ว ๆ ไป เริ่มนับตั้งแต่ การเขียนเรื่อง ซึ่งต้องอาศัยความอนุเคราะห์จากผู้เขียนหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านต้องปลีกเวลาจากงานประจํา ซึ่งค่อนข้างจะจํากัด และมาเขียนเรื่อง ซึ่งต้องอาศัยเวลาไตร่ตรองมากกว่าการเขียนจดหมาย การรวบรวมเรื่อง การตรวจทาน การจัดหน้า และเทคนิคในด้านการพิมพ์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลามากทั้งสิ้น….? การหาทุนในการจัดพิมพ์เป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑรูย์ คชเสนี ได้มอบหมายให้คุณโสภณ โสตะระ อดีตผู้จัดการโรงแรมเอเชีย ทําหน้าที่เป็นผู้จัดการวารสาร ช่วยติดต่อบริษัทต่าง ๆ เพื่อ ร่วมสนับสนุนการพิมพ์ ซึ่งผู้เขียนขอนำ ส่วนหนึ่งของภาพโฆษณาของห้างร้าน และองค์กรที่ร่วมสนับสนุนวารสารยูโร เมื่อครั้งเริ่มแรกตีพิมพ์ลงไว้เป็นที่ระลึก (ภาพที่่ 2)

จากการที่มีภาระต้นทุนด้านการพิมพ์ มีการกระตุ้นให้ผู้สนใจสั่งซื้อ และองค์กร ห้างร้านให้ช่วยสนับสนุนการพิมพ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี มีกลยุทธ์เชิญชวนที่น่าสนใจยิ่ง (ภาพที่่ 3)

บรรณาธิการในแต่ละยุคสมัยมีกลยุทธ์ ในการหาบทความเพื่อลงตีพิมพ์ ในวารสารยูโรแตกต่างกัน ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี ได้ประกาศให้รางวัลบทความดีเด่น ในวารสารยูโร ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (ภาพที่่ 4)

ซึ่งผู้ได้รับรางวัลบทความดีเด่นที่บันทึกไว้ ในวารสารยูโร ปีที่ 6 ฉบับ ที่ 6 คือ นายแพทย์ชูสิน จิระจิตสัมพันธ์ บทความ เรื่อง ?duodenal injury from nephrectomy? และแพทย์หญิงกัลยา ผลากรกุล บทความเรื่อง ?ปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของเนื้องอก seminoma? โดยมีการมอบรางวัลในการ ประชุมประจําปี พ.ศ. 2524 ต่อมา ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการได้ปรับกลยุทธ์ โดยประกาศเจตนารมณ์ว่า ?วารสารยูโรพร้อมที่จะเป็นสนาม ให้แก่แพทย์ประจําบ้านทุกท่านเสมอ? และได้นําบทความของแพทย์ประจำบ้านลงตีพิมพ์ในวารสารยูโร เป็นครั้งแรก ในปีที่ 12 ฉบับที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นบทความของนายแพทย์ธีรวรรณ วะน้ำค้าง (คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) เรื่อง ?เปรียบเทียบผลการผ่าตัดนิ่วในท่อไตโดยวิธีเย็บปิดและไม่เย็บปิดท่อไตหลังเอานิ่วออก? และ นายแพทย์พิทักษ์ ตั้งชนะชัยอนันต์ (คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) เรื่อง ?Appendiceal adenocarcinoma simulating primary bladder cancer : A case report?

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เมื่อคณะ กรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้อนุญาตให้จัดตั้ง ?สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย)? และมีการจดทะเบียน ?สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย)? ณ ที่ทําการกองตํารวจสันติบาล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2532 ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ปี พ.ศ. 2532-2534 การจัดทําวารสารยูโรชะงักการตีพิมพ์ เนื่องจากขาดแคลน ทั้งเงินทุน และบทความ ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬารซึ่งเป็นกรรมการสมาคมฯ หลายสมัยและดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 2 สมัย (พ.ศ. 2548-2552) เล่าว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ มีการตั้งประเด็นว่า วารสารยูโรจะ ?สู้? หรือจะ ?ถอย? ซึ่ง กรรมการและสมาชิกของสมาคมฯ จํานวนไม่น้อย ลงมติให้ ?สู้? ต่อไป ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระสิงห์ เมืองมั่น ได้ติดต่อให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ ซึ่งขณะนั้นประจําอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ให้รับหน้าที่ บรรณาธิการวารสารยูโร ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร เล่าว่า ?ในเบื้องต้น มีบทความค้างอยู่? 2-3 บทความเท่านั้น จึงต้องมองหาบทความเพิ่ม โดยโทรศัพท์ถามหาผู้มีบทความวิจัย ซึ่งหายาก จึงใช้บทความปริทัศน์ (review article) มาเสริม และเริ่มหาผู้สนับสนุนการพิมพ์ สำหรับโรงพิมพ์ ตอนนั้นลําบากมาก การทําเพลท ต้องตัดทีละส่วนมาตัดแปะ ตอนน้ำท่วม ก็ต้องลุยน้ำเข้าโรงพิมพ์? ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มกําลัง ในที่สุด วารสารยูโร ปีที่ 13 ฉบับที่ 13 เดือนธันวาคม 2535 จึงถือกําเนิดมา นับเป็นการคืนชีพของวารสารยูโร ครั้งสําคัญ

ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ รับหน้าที่ บรรณาธิการวารสารยูโร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2543 โดย ในปีที่ 2 ของการรับตําแหน่งบรรณาธิการ คือ ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่ 14 ของวารสาร ท่านได้ทําให้ความตั้งใจของผู้ก่อตั้งวารสารยูโรเป็นจริง คือวารสารยูโร มีการตีพิมพ์ 2 ฉบับต่อปี และในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีที่ 20 ของวารสาร ท่านได้วางระบบ peer review อัน เป็นระบบมาตรฐานของวารสารสากล สําหรับปัญหาเรื่องบทความที่จะลงตีพิมพ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2543 เมื่อการอบรมแพทย์ประจําบ้าน ปรับเป็นหลักสูตร 4 ปี และมีข้อบังคับว่าแพทย์ประจำบ้านศัลยศาตร์ระบบปัสสาวะที่มีสิทธิ์สอบเพื่อวุฒิบัตรฯ จะต้องมีงานวิจัยที่ได้นําเสนอในการประชุมที่ได้รับการรับรอง และงานวิจัยนั้นจะต้องส่งตีพิมพ์ด้วย ทำให้ปัญหาเรื่องบทความที่จะลงตีพิมพ์คลี่คลายไปได้

การตีพิมพ์ของวารสารยูโรมีกำหนดตีพิมพ์ ฉบับ ที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และฉบับที่ 2 ในเดือนธันวาคม มาโดยตลอด แต่ผู้เขียนขอบันทึกไว้ว่ามีการตีพิมพ์นอกอกเหนือเดือนที่กำหนด 2 เหตุการณ์ คือ ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปีที่ 25 ของวารสารยูโร มีการตีพิมพ์ ฉบับที่ 1 ในเดือนมีนาคม และฉบับที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และ ในปี พ.ศ. 2548 มีการตีพิมพ์วารสารยูโรฉบับพิเศษ คือ ปีที่ 26 ฉบับ (ก.ย. 47, ธ.ค. 47, มิ.ย. 48) และ วารสารยูโรฉบับพิเศษ 2 คือ ปีที่ 26 ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2458

บรรณาธิการวารสารยูโรท่านต่อมาคือ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์พิชัย ศุจิจันทรรัตน์ (พ.ศ. 2544-2547) ท่านได้ดําเนินการปรับการจัดรูปเล่มและคําแนะนําในการส่งต้นฉบับ เพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน International Committee of Medical Journal Editors ต่อจากนั้น มีการเปลี่ยนผ่านบรรณาธิการไปสู่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อนุพันธ์ ตันติวงศ์ (พ.ศ.2547-2549) รองศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิพร ศรีนวลนัด (พ.ศ. 2550-2555) และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงมณฑิรา ตัณฑนุช ซึ่งรับหน้าที่บรรณาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งขณะนั้น วารสารยูโรยังไม่ได้ อยู่ในระบบฐานข้อมูลวารสาร ทําให้บทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารจะไม่สามารถสืบค้นได้ด้วยระบบสารสนเทศ (information system) ด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสมาคมฯ กําหนดเป้าหมายของวารสารยูโร เพื่อเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสากล โดยการพัฒนาใน 3 ระยะ คือ ระยะแรก เข้าสู่ระบบมาตรฐานวารสารของประเทศไทย ระยะที่สอง เข้าสู่ระบบมาตรฐานวารสารเอเชีย และ ระยะที่สาม เป็นการเข้าสู่ระบบมาตรฐานวารสารสากล โดยขั้นต้นได้ชักชวนบุคลากรในส่วนงานสนับสนุน เพื่อเป็นทีมทํางาน และจัดทําแนวทางการทํางานของแต่ละส่วนงาน เพื่อให้สามารถผลิต เล่มวารสารออกได้ตามกําหนดเวลา วางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มคุณภาพของบทความ โดยจัดให้มีระบบการตรวจสอบคุณภาพของบทความที่รับลงตีพิมพ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาต่างประเทศ และดําเนินการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูล ในวารสารโดยผ่านเครื่องมือ search engine มาตรฐานต่าง ๆ อาทิ google scholar, Thai Journals online (ThaiJO) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 วารสารยูโร ได้รับการรับรองให้เข้าสู่ระบบอ้างอิงมาตรฐานของประเทศไทย (Thai Journal Citation Index: TCI) ของศูนย์ดัชนี การอ้างอิงวารสารไทย ในกลุ่มที่ 2 ต่อมาจึงได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขึ้นสู่ฐานข้อมูลในกลุ่มที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (ภาพที่่ 5)

ซึ่งเป็นการบรรลุภารกิจระยะแรกตามเป้าหมาย สําหรับภารกิจระยะต่อไป คือการเข้าสู่ระบบมาตรฐานวารสารเอเชีย และระบบมาตรฐานวารสารสากลตามลําดับ วารสารยูโรได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณาจารย์ ในสถาบันฝึกอบรมฯ ช่วยพัฒนาบทความให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น (ภาพที่่ 6)

ในการเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล วารสารยูโรมีความจำเป็นต้องปรับด้านภาษา โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสมาคมฯ วารสารยูโรจึงจัดพิมพ์เป็น ภาษาอังกฤษ และมีระบบ online submission ซึ่งใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2561

บรรณาธิการใหญ่ และกองบรรณาธิการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันและต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพของวารสาร เป็นผลให้ TJU ได้รับการยอมรับเข้าอยู่ใน ASEAN Citation Index (ACI) ขั้นตอนต่อไปเป็นการเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus และ PubMed ดังนั้นทีมงาน TJU จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจากทั่วโลกมาเป็นบรรณาธิการ การปรับปรุง TJU อีกประการที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ของวารสาร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Insight Urology (ISU) ในฉบับเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2563

จากอดีตเมื่อแรกกำเนิดวารสารยูโร บรรณาธิการแต่ละท่าน ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาเพื่อให้ วารสารยูโรของเราเป็น ?วารสารวิชาการ? ของสมาคม ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชปูถัมภ์ ซึ่งตลอดเส้นทางเดินมากกว่า 40 ปี วารสารยูโร ได้ผ่านอุปสรรคนานัปการ จนก้าวมาสู่ปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และ ?วารสารยูโร? จะเป็นวารสารวิชาการ ของมวลเหล่าสมาชิกชาวยูโรอย่างภาคภูมิตลอดไป???????????????

ที่มา พญ. มณฑิรา ตัณฑนุช, วารสารของเรา: วารสารยูโร, 3 ทศวรรษ ยูโรไทย ก้าวต่อไปอย่างภาคภูมิ

เข้าสู่ระบบ


ลงทะเบียน

(เฉพาะสมาชิก TUA เท่านั้น)

กรุณากรอกข้อมูลด้านล่าง

กู้คืนรหัสผ่านของคุณ

กรุณาระบุอีเมลของคุณ